วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2553

ประเพณีแห่ช้างไทยพวน



ไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว เป็นชุมชนในหมู่บ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีเนื้อที่ประมาณ 8,932 ไร่ หรือประมาณ 143 ตารางกิโลเมตร อาณาเขตติดต่อกับชุมชนอื่นโดยรอบ คือ
ทิศเหนือ จดตำบลป่างิ้ว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ทิศใต้ จดตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ทิศตะวันออก จดตำบลดงคู่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ทิศตะวันตก จดตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
ความหมายของคำว่าหาดเสี้ยว เป็นการเรียกขานตามสภาพภูมิศาสตร์ ที่หมู่บ้านนี้ มีแม่น้ำยมไหลผ่านหาดกลางน้ำ ขนาดใหญ่ อันเป็นเหตุให้แยกลำน้ำออก เป็นสองสาย แล้วไหลบรรจบกัน ที่ปลายเสี้ยวของหาดทางทิศใต้ ประกอบกับที่กลางหาดมีต้นกาหลง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ต้นส้มเสี้ยว จึงนำเอาคำว่าหาด กับคำว่าเสี้ยว มาประสมกัน อีกความหมายหนึ่ง เล่ากันว่า แต่ก่อนหมู่บ้านนี้ไม่มีชื่อ จวบจนธิดาสาวเจ้าเมืองเชียงราย ได้เสด็จทางชลมารคลงเรือมาด ที่เมืองแพร่ ล่องมาตามลำน้ำยมเพื่อจะไปเยี่ยมพระสหาย ซึ่งเป็นพระธิดาเจ้าเมืองตาก บังเอิญเรือรั่วขณะผ่านมาทางย่านนี้ จึงแวะจอดซ่อมเรือ ถามคนแถวนี้ถึงชื่อบ้าน ไม่มีใครตอบได้ บังเอิญได้พบหัวหน้าหมู่บ้าน ที่มาช่วยเหลือ จึงได้ชี้แนะให้ เรียกบ้านหาดเชี่ยว ตามความไหลเชี่ยว ของน้ำยม ที่ไหลผ่านช่วงนั้น หัวหน้าหมู่บ้านได้ขยายความข้อนี้ จนกลายเป็น ชื่อเรียกติดปาก ตั้งแต่นั้นมา จนกระทั่งเมื่อสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส พระสังฆราชเสด็จหมู่บ้านนี้ เมื่อปี พ.ศ. 2460 ได้ทรงโปรดให้ เปลี่ยนชื่อบ้านจาก หาดเชี่ยว เป็น หาดเสี้ยว และวัดประจำหมู่บ้าน ที่ชื่อวัดโพธิ์ไทร ก็ให้เรียกเป็น วัดหาดเสี้ยว เช่นเดียวกัน
ชุมชนหาดเสี้ยว สุโขทัย มีบรรพบุรุษเป็นชาวไทยพวน ที่อพยพมาจาก เมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง ในประเทศลาว เมื่อรัชกาลที่ 3 ประมาณ ปี พ.ศ. 2387 เป็นหนึ่งในจำนวนไทยพวน ที่อยู่ในประเทศไทย จำนวน 23 จังหวัด ชุมชนหาดเสี้ยว มี 5 เครือข่าย คือ บ้านหาดเสี้ยว บ้านหาดสูง บ้านใหม่ บ้านป่าไผ่ และบ้านแม่ราก การอพยพ ของบรรพบุรุษพวน บ้านหาดเสี้ยวครั้งนั้น กล่าวกันว่ามีทั้งฝ่ายฆารวาส และฝ่ายสงฆ์ ฝ่ายฆารวาสมีพี่น้องสามแสน คือ แสนจันทร์ แสนปัญญา และ แสนพล เป็นหัวหน้า ฝ่ายสงฆ์มี เจ้าหัวอ้าย สมเด็จวัดบ้านตาดเป็นหัวหน้า คาดว่าเดินทางเข้าประเทศไทยทางจังหวัดน่าน ผ่านจังหวัดแพร่ อุตรดิตถ์ มุ่งสู่เมืองสวรรคโลก เลือกภูมิประเทศ บริเวณบ้านหาดเสี้ยว ลุ่มน้ำยมปลูกสร้างบ้านเรือน สร้างวัด และหาที่ดิน ประกอบอาชีพกสิกรรม ตอนนั้นเจ้าเมืองสวรรคโลก ได้แต่งตั้งแสนจันทร์เป็นผู้ปกครอ งดูแลราษฎรในท้องที่ เก็บภาษีอากร นำส่งรัฐบาลถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางทางน้ำ ไปและกลับ เป็นเวลาเดือนเศษ เมื่อแสนจันทร์ถึงแก่กรรม เจ้าเมืองสวรรคโลก ได้แต่งตั้งบุตรชายคนโตของท่าน ชื่อทอง รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงศรีพิทักษ์ ปกครองต่อ จนเป็นต้นสายพันธุ์ สกุลหาดเสี้ยวในปัจจุบัน วิถีชีวิตไทยพวนหาดเสี้ยว
ชาวไทยพวน อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย มีอาชีพ ทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เวลาว่างจากการทำนา หญิงทอผ้า ชายตีเหล็ก ผู้เป็นช่างเงิน ช่างทอง ก็ทำเครื่องเงินเครื่องทอง



ประเพณีแห่ช้างบวชนาค





ชาวตำบลหาดเสี้ยวที่นับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อในเรื่อง อานิสงค์ของการบวช ทั้งการบวชพระ และบวชเณร ดังนั้นครอบครัว ที่มีบุตรหลานเป็นชาย เมื่ออายุครบบวช ก็จะจัดการทำพิธีบวชให้
ผู้บวชที่จะบวชพระได้ ต้องมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ส่วนเด็กที่จะบวชเณรนั้น บวชได้ตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป ผู้ชายหาดเสี้ยวคนใด ที่มีเหตุจำเป็น ไม่ได้บวชเมื่ออายุครบ หรือแต่งงานก่อนบวช พ่อแม่ก็ต้องพยายามหาโอกาส ให้บวชให้ได้ ในภายหลัง แต่เดิม จะนิยมจัดงานในวันแรม 3 ค่ำ เดือน 4 และบวชในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 4 การบวชในปัจจุบัน มีรูปแบบการจัด 2 แบบ คือ
งานบวชธรรมดา ไม่จัดพิธีเอิกเกริก ส่วนใหญ่จะเป็นการบวชพระ ในช่วงก่อนเทศกาลเข้าพรรษา โดยการบอกกล่าว ญาติใกล้ชิด มาร่วมในการทำขวัญ และนำนาคไปวัด เพื่อทำพิธีบวช การบวชแบบนี้ มักจะบวชจนครบพรรษา
บวชหมู่ นิยมบวชกันในเดือนสี่ (ประมาณเดือนเมษายน) ซึ่งเป็นช่วงที่มีวันหยุดหลายวัน ระยะเวลาในการบวชจะมีตั้งแต่ 7 – 15 วัน จนถึงหนึ่งเดือน การบวชในลักษณะนี้ ถือเป็นงานประเพณีประจำปี ของท้องถิ่น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา มีการกำหนดเวลาที่แน่นอน ในการจัด โดยถือเอาวันที่ 7 เมษายน ของทุกปีเป็นวันงาน และชาวบ้านเรียกว่า “งานแห่ช้างบวชนาค”
ก่อนวันบวช จะมีกลุ่มผู้หญิงกลุ่มหนึ่ง เป็นตัวแทนของแต่ละเจ้าภาพ ที่จัดงานบวช เดินไปบอกบุญ ตามบ้านใกล้เรือนเคียง เพื่อให้ไปร่วมงานกัน เรียกว่า “เถี่ยวบ๊าน”
งานบวชนี้ จะจัดงานรวมทั้งสิ้น 3 วัน คือ วันสุกดิบ เป็นวันเตรียมตัวของผู้บวช และเจ้าภาพ ในการจัดเตรียม ในเรื่องอาหารไว้เลี้ยงแขก ที่เชิญมาร่วมงาน รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องอัฐบริขาร ซึ่งเรียกว่า “เครื่องกองบวช”
วันที่สอง เป็นวันแห่นาค ในวันนี้จะทำพิธี โกนผมนาค อาบน้ำ แต่งตัวนาคจะสวมเสื้อสีสด บางคนใส่เสื้อกำมะหยี่สีเหลือง ที่สาบเสื้อ และปลายแขนประดับด้วยตีนจก นุ่งโจงกระเบนหลากสี เช่น สีเขียว แดง ม่วง ตกแต่งด้วยเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอทองคำ เข็มขัดนาค แหวน สวมเทริดที่ตกแต่งด้วยดอกไม้ไว้เหนือศีรษะ แต่งหน้าด้วยเครื่องสำอาง และสวมแว่นตาดำ
ส่วนช้างที่นำมาร่วมขบวน เป็นพาหนะของนาค ก็จะถูกนำไปอาบน้ำที่แม่น้ำยม ตกแต่งด้วยผ้าลาดช้าง และผ้าคลุมหัวช้าง ที่ตกแต่งด้วยผ้าที่จก เป็นลวดลาย บนคอช้าง วางพาดด้วยฝ้ายใจขนาดใหญ่ สีขาว ซึ่งผ้าต่างๆเหล่านี้ ในสมัยก่อน จะทอกันเอง เตรียมไว้แต่เนิ่นๆ
การแห่นาคด้วยขบวนช้างนั้น จะจัดขึ้นในตอนบ่าย โดยที่นาคทุกคน จะมารวมตัวกัน ที่วัดหาดเสี้ยว ก่อนที่จะตั้งขบวนแห่ ไปตามถนนใตลาด และอ้อมผ่านถนนนอกชุมชน แล้วจึงย้ายไปตามบ้านของตน ในตอนค่ำจึงมีพิธีทำขวัญนาค
ตลอดงาน และในขบวนแห่ จะมีแตรวง หรือกลองยาวมาประโคมเฉลิมฉลอง รวมทั้งมีการเต้นรำ อย่างสนุกสนาน โดยแขกที่มาร่วมงานแต่ละบ้าน ซึ่งแต่เดิมในขบวนแห่ จะมีแต่ปี่แต๊ หรือปี่ชวา และกลองรำมะนาเท่านั้น ในตอนกลางคืน ของวันสุกดิบและวันแห่นาค มักจะมีการจ้างมหรสพ มาแสดงฉลองนาคที่บ้าน ของแต่ละคนด้วย
ในวันที่สาม ซึ่งเป็นวันบวชนั้น จะจัดพิธีธรรมดาเป็นการพานาคเดินไปวัดเพื่อทำพิธีขอบวชนาคเช่นเดียวกับการบวชทั่วไป เมื่อขอบวชเรียบร้อยแล้ว ก็ถือเป็นการเสร็จพิธี หลังจากบวชแล้วจะมีคำเรียกผู้ที่บวชเป็นพระว่า “เจ้าหัว”หรือ “หม่อม” เมื่อสึกออกไปแล้ว จะมีคำนำหน้าชื่อว่า “อ้ายทิด” ส่วนสามเณรนั้น จะมีคำนำหน้าเรียกว่า “จั่วอ๊าย” และเมื่อสึกออกไปแล้ว จะมีคำนำหน้าชื่อว่า “เซียง”
ปัจจุบัน ประเพณีนี้ได้กลายเป็น ประเพณีประจำปี ของอำเภอศรีสัชนาลัย ทางราชการ ได้เข้ามามีส่วนร่วม ในการให้การสนับสนุน ด้านงบประมาณจัดงาน ในแต่ละปี เฉลี่ยให้แก่บ้านที่จะจัดงานบวช รายละเท่าๆกัน เริ่มตั้งแต่ ประมาณปี 2529 เป็นต้นมา เป็นโยบาย เพื่ออนุรักษ์ประเพณีพื้นบ้าน และส่งเสริมการท่องเที่ยว ของจังหวัดสุโขทัย
งานบวช จึงเป็นงานประเพณีงานหนึ่ง ที่มีผ้าชนิดต่างๆจำนวนมาก เช่นผ้าโจงกระเบน ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้ากราบ ผ้ากั้ง ซึ่งผ้าเหล่านี้ แม่ของผู้บวช หรือคู่รัก จะเป็นผู้ทอเตรียมไว้ก่อน นอกจากนั้น ช้างที่ร่วมขบวน ก็ได้รับการประดับตกแต่ง ด้วยผ้าชนิดต่างๆ และสิ่งสำคัญก็คือ ฝ้ายใจขนาดใหญ่ สีขาว สีแดง ที่แสดงให้เห็นถึง ความสำคัญของฝ้าย ในชุมชน ตำบลหาดเสี้ยว ได้

ไม่มีความคิดเห็น: